อยากรวยต้องรู้



ทำไม  ต้องวางแผนการเงิน

ย้อนไปเพียง 10 ปี อาจกล่าวได้ว่า การวางแผนการเงิน นั้นแทบจะไม่ใช่เป็นเรื่องที่สลักสำคัญอย่างใดสำหรับสังคมไทย
                ถ้าพูดถึงเรื่องนี้...คงมีคนไม่มากนักที่จะเข้าใจว่าการวางแผนการเงินคืออะไร? หรือรู้ว่าการวางแผนการเงินนั้นสำคัญเพียงใด?  และก็คงมีจำนวนน้อยลงไปอีกมาก หากจะนับเฉพาะคนที่มีความรู้ทางการเงิน ถึงขึ้นที่รู้ว่าจะวางแผนการเงินกันอย่างไร?
                คุณอาจสงสัยว่า...ถ้าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราไม่มีความจำเป็นหรือเคยต้องวางแผนการเงินแล้ว มีเหตุผลอะไรที่เราต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้ด้วยล่ะ?
ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน...
                ก็เพราะอนาคต (รวมทั้งปัจจุบัน) นั้นจะไม่เหมือนกับอดีตอีกแล้วนะสิ!
ความจริงแล้ว สาเหตุสำคัญที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราไม่ต้องเสียเวลามาวุ่นวายกับเรื่องของการวางแผนการเงินเพื่ออนาคตนั้น...
ไม่ใช่เพราะว่าท่านไม่รู้ ว่ามีความสำคัญ แต่ความจริงแล้ว เป็นเพราะเรื่องนี้ ไม่จำเป็น สำหรับคนในยุคก่อนต่างหาก!
เป็น งง ใช่ไหมล่ะ? ใจเย็นๆ เราจะอธิบายให้คุณฟังอย่างละเอียดในลำดับถัดไป
แต่ประเด็นสำคัญที่เราอยากจะบอกคุฯก่อนอื่นใดเลย ก็คือ...
ถ้าคุณยังทำทุกอย่างตาม ความเคยชิน เช่นในอดีต โดยไม่ตระหนักถึงความจริงในอนาคตที่จะเปลี่ยนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจากอดีตและปัจจุบันแล้วในที่สุด ตัวคุณเองนั่นแหละที่จะตกเป็นเหยื่ออย่างใน ทฤษฎีกบ ก็ได้!
ฝรั่งมักจะเปรียบเปรยเรื่องของความสามารถในการปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงกับสัตว์ชนิดหนึ่ง คือ กบ
เพราะกบเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมาก โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบช้าๆค่อยเป็นค่อยไป.....
ถ้าคุณโยนกบตัวหนึ่งลงไปในหม้อน้ำที่ตั้งไฟเดือด มันจะรีบกระโดดออกมาจากหม้อต้มน้ำนั้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าคุณโยนมันลงไปในหม้อขณะที่น้ำยังเย็นอยู่ และค่อยๆ เร่งไฟให้แรงขึ้นทีละเล็กละน้อย กบตัวนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวจนรู้สึกเคยชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นนั้นไปเรื่อยๆ
ซึ่งกว่าจะเริ่มรู้ตัว....ก็กลายเป็นกบต้มไปแล้ว!
                เหตุผล 5 ประการที่คุณควรใส่ใจ เรื่องการวางแผนการเงิน
เหตุผลที่ 1 คนเราจะมีอายุยืนยาวขึ้น
                ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรอย่างต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนหลายประการคือ
                -  อัตราเกิดมีแนวโน้มลดลงทุกปี ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ
                -  คนไทยโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้น
                -  จำนวนประชากรวัยหลังเกษียณเพิ่มขึ้น ในอัตราที่รวดเร็วกว่าจำนวนประชากรวัยทำงาน
                -  ครัวเรือนมีนาดเล็กลงเรื่อยๆ
เมื่อย้อนไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2510-2520) อายุคาดหมายเมื่อแรกเกิดของประชากรชายและหญิงไทย อยู่ที่ 58 ปี และ 63 ปี ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชายไทยโดยเฉลี่ยนั้นเสียชีวิตก่อนเกษียณส่วนหญิงไทยก็มีชีวิตหลังเกษียณเพียง 3 ปี เท่านั้น
แต่เมื่อถอยกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2533-2538) จะเห็นว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยชายไทยจะมีอายุโดยเฉลี่ย 64 ปี ส่วนหญิงไทยนั้น จะมีอายุโดยเฉลี่ยยืนยาวกว่า คือ 69 ปี แต่ถึงกระนั้น จะเห็นได้ว่า...
                เมื่อก่อนนี้คนไทยจะมีอายุหลังเกษียณไม่นานนัก (จึงไม่จำเป็นต้องวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ)
อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ได้ส่งผลให้คนไทยโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้นจากตัวเลขคาดประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563-2568) ประมาณการอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยจะสูงขึ้นอีก โดยชายไทยจะมีอายุ 75 ปี และหญิงไทยจะมีอายุ 80 ปี
นั่นหมายความว่า โดยความน่าจะเป็นแล้ว คุณจะต้องมีชีวิตหลังเกษียณยาวนานถึง 15 ปี ถ้าคุณเป็นเพศชาย และ 20 ปี ถ้าเป็นเพศหญิง (ส่วนเพศอื่นนั้นยังไม่มีสถิติยืนยัน!)
เหตุผลที่ 2 ภาระที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ
                นอกจากอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นแล้ว การที่สัดส่วนของประชากรวัยทำงานเทียบกับประชากรวัยเกษียณที่ลดลง และขนาดของครัวเรือนที่เล็กลง ก็จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน
คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรานั้น อาจอาศัยลูกๆหลานๆ ช่วยเหลือเจือจุนได้ เพราะสังคมไทยแต่เดิมนั้นอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปตามสังคมตะวันตก โดยมีการแยกตัวออกมาจากพ่อแม่เมื่อแต่งงานไปมีครอบครัวของตนเองมากขึ้น ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปเป็น ครอบครัวเดี่ยว เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สวัสดิการที่คนชราได้รับจากรัฐบาลยังห่างไกลจากประเทศตะวันตกมากอย่างที่เราๆท่านๆรู้กันอยู่
การที่แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลงนั้น...การจะพึ่งลูกหลานเหมือนในอดีต จึงเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ยาก
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า พบว่าสัดส่วนของประชากรวัยทำงานเทียบกับประชากรวัยเกษียณจะลดลงจาก 6.27:1 เหลือ 3.26:1
นั้นเป็นตัวเลขเฉลี่ยทั่วประเทศ แต่สำหรับสังคมเมืองเดี๋ยวนี้ ที่แต่ละครอบครัวมักที่จะมีลูกกันเพียง 1-2 คนนั้น อัตราส่วนดังกล่าวอาจอยู่ที่ระดับ 1:2 (ลูก 1 คนรับภาระเลี้ยงดูทั้งพ่อและแม่) เท่านั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณไม่ได้วางแผนการเงินสำหรับการดูแลตัวเองในช่วงเกษียณแล้ว ใน 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยนั้นจะเป็นภาระของลูกหลานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกหลายเท่าตัว
                เฮ้อ!คิดแล้วไม่รู้จะสงสารลูกหลานหรือสงสารตัวเองดี
เหตุผลที่ 3 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น
นับวันโลกาภิวัตน์ ได้ย่อโลกให้มีขนาดเล็กลงๆจนกลายเสมือนหนึ่ง โลกที่ไร้พรมแดน เพราะปัจจัยที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่งๆ สามารถส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวางเสมือนกับอยู่ในประเทศเดียวกัน
ตัวอย่างเช่นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 (ฝรั่งเรียกว่า โรคต้มยำกุ้ง) และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกลายเป็นปัญหาลุกลามเป็นปัญหาไปทั่วเอเชียนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งระงับการดำเนินงานของสถาบันการเงินทีเดียวพร้อมกันถึง 16 แห่ง ในเดือนมิถุนายน 2540 และตามมาอีก 42 แห่ง ในเดือนสิงหาคม 2540 ซึ่งในที่สุดได้สั่งปิดสถาบันการเงินเหล่านั้นเป็นการถาวรรวม 56 แห่ง ในเดือนธันวาคม 2540
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจอื่นๆที่อยู่นอกภาคสถาบันการเงินด้วย ส่งผลให้ธุรกิจใหญ่และเล็กต้องปิดตัวเองราวกับใบไม้ร่วง อัตราการว่างงานของทั้งประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากระดับต่ำกว่า 2% ในปี 2540 เป็น 5% ในช่วงกลางปี 2541 และทำให้คนจนเพิ่มขึ้งถึง 2 ล้านคน
นอกจากนี้การที่ธุรกิจมีการแข่งขันที่สูงขึ้นย่อมทำให้บริษัทต่างๆต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในการต่อสู้ดิ้นรนดังกล่าว ธุรกิจที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด และหนีไม่พ้นที่ต้องมีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่จะต้องล้มหายตายจากไป ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีการปรับตัวเพื่ออยู่รอดที่ธุรกิจต่างๆมักนำมาใช้เสมอ คือ การปรับลดขนาดองค์กร ดังนั้น...ความมั่นคงทางด้านอาชีพการงานในอนาคตจึงน่าจะมีน้อยลง
นี่เป็นเหตุผลที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง(นอกจากการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุซึ่งเป็นการวางแผนการเงินระยะยาว) ที่คุณต้องคิดถึงการตระเตรียม เงินรองรัง สำหรับการจับจ่ายใช้สอยในครอบครัวของคุณยามฉุกเฉินไว้ด้วย
เหตุผลที่ 4 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ
นับแต่อดีตเงินออมของคนไทยประมาณ 70-80% จะอยู่ในรูปของเงินฝากธนาคารเนื่องจากเป็นวิธีการออมที่ไม่มีความสลับสับซ้อนหรือต้องใช้ความรู้ทางการเงินอะไรมากมาย และยังโชคดีด้วยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ระบบธนาคารมีสภาพคล่องล้นระบบทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ฝากเงินกินดอกเบี้ยมีรายได้ลดลงอย่างมากแล้ว(ตอนที่เรากำลังเตรียมต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้อยู่ เงินฝากธนาคารทุกๆ 100 บาทจะได้ดอกเบี้ยเพียงปีละ 3 สลึงเท่านั้น) ในระยะหลังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังได้ลดลงต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วย
แปลว่า...เงินฝากที่คุณเก็บออมไว้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ดังนั้นความมั่นคงของผู้ฝากเงินจึงกำลังลดลง โดยที่หลายคนยังไม่รู้สึกตัว
จุดที่น่าสังเกต ก็คือ แม้จะมีการลงทุนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินมาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารมากกว่า เพราะ...
                -  บางคนบอกว่าไม่รู้จักตราสารการเงินประเภทอื่นๆ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยทำอะไรเลยนอกจากฝากเงินกับธนาคาร
                -  บางคนบอกว่าไม่อยากสูญเงินต้น เพราะถึงอย่างไรการฝากเงินกับธนาคารก็ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากรัฐบาลบอกว่าจะค้ำประกันให้ 100% (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย)
                -  บางคนบอกว่าเข็ดขลาดกับการขาดทุนในตลาดหุ้นแล้ว เพราะเคยเข้าไปลงทุนตอนที่ดัชนีราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 1,700 จุด เมื่อปี 2537 ซึ่งตอนนี้ยังถือหุนราคาแพงอยู่ในพอร์ตอยู่เพียบ (ยังไม่นับหุนอีกหลายตัวที่ได้กลายเป็นเศษกระดาษไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 )
แต่คุฯรู้หรือไม่ว่า อนาคตกำลังไล่ล่าคุณ เพราะ
                -  ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อต่ำ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นภาวะสินค้าตก ซึ่งจะยังกดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำเตี้ยติดดินไปอีกนานพอสมควร
                -  รัฐบาลมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมาทำหน้าที่แทน การค้ำประกันโดยรัฐบาลในอนาคต ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะไม่ค้ำประกันเงินฝากทั้ง 100% เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา
คุณจะรับมือกับเกมการออมที่จะเปลี่ยนไปนี้ได้อย่างไร ถ้าคุณไม่มีความรู้ทางการเงิน?
เหตุผลที่ 5 ทางเลือกในการลงทุนจะมีมากขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้นในอนาคต
แรงกดดันทางด้านอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะมีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่มีชื่อเรียกแปลกๆ ว่า ตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ตราสารซื้อขายล่วงหน้า และตราสารสิทธิ์ เป็นต้น
ตราสารการเงินนี้เป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่ที่สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยง และสามารถใช้เพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนให้สูงขึ้น
แต่เพราะว่าโลกนี้ ไม่มีของฟรี... ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้นมักมาคู่กับความเสี่ยงเสมอ
ตราสารเหล่านี้เป็นนวัตกรรมขั้นสุดยอด อันเกิดจากผลงานการคิดค้นของนักเศรษฐศาสตร์การเงินชั้นนำของโลก ที่มีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งแม้จอมยุทธ์ในวงการเงินจำนวนมาก(ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่คิดค้นมันขั้นมา) ยังต้องพ่ายแพ้และยอม ซูฮก ในพิษสงอันร้ายกาจของมัน
 ถ้าคุณติดตามข่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณอาจจะเคยอ่านข่าวเจอว่ามีกองทุนหลายแห่งในต่างประเทศ เช่น LTCM และ Tiger Fund ที่ต้องประสบกับการขาดทุนถึง 4,000 และ 2,600 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2541 และ 2543 ซึ่งต้องล้มละลายไปในที่สุด เพราะมีการนำเอาเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือใช้ไปในการเก็งกำไลเกินสมควร
และที่สำคัญตลาดตราสารอนุพันธ์เหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเรา โดยในขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง บริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ขึ้นแล้ว เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์ซื้อขายตราอนุพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในไม่ช้า
ดังนั้น สิ่งที่เราอยากจะบอกคุณก็คือ คุณควรหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้บ้าง ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ!
เท่าที่ได้กล่าวมา คุณคงพอจะมองเห็นแล้วว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และนั่นอาจทำให้ผู้อ่านหลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
แต่ทว่า ใครก็ตามที่มัวแต่ปิดกั้นความคิดอยู่แต่ในโลกของตนเอง ย่อมตามไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ ซึ่งในที่สุดก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าหวาดผวาในอนาคตเหล่านั้น
ในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ผู้รู้บางท่านได้แนะนำว่ามีข้อพึงปฏิบัติ 4 ประการ ดังนี้
1.             ต้องสุขุมเยือกเย็น พึงรู้ได้ด้วยว่า ความตื่นตระหนกมิเพียงแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น
2.             จะต้องทำความเข้าใจกับสภาพปัจจุบัน จะต้องรู้จักสถานการณ์ที่ตนประสบอยู่ จะต้องรู้ว่าเหตุการณ์ผันแปลมีผลกระทบต่อเรามากน้อยเพียงไร
3.             ถือเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เมื่อเผชิญกับแรงกดดันที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราจะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์และศรัทธาของตนไว้ไม่ละทิ้งหลักการที่ดีงาม เช่น ความซื่อสัตย์ มิตรภาพ และความเอาใจใส่ผู้อื่น เป็นต้น
4.             จะต้องมีจิตสำนึกที่จะมีชีวิตอยู่อย่างแรงกล้า อย่าได้ศิโรราบต่อแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างง่ายดาย ตรงกันข้าม พึงใช้ท่าทีในเชิงลบอย่าเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว
การจำเช่นนั้นได้ คุณจะต้องมี ความรู้ทางการเงินที่ดีเพียงพอ






 อยากรวยต้องรู้ : เคล็ด (ไม่) ลับ สู่...อิสรภาพทางการเงิน
เล่มที่ 1 “ รู้จักแผนที่นำทาง 
ผู้เขียน                    นำชัย  เตชะรัตนะวิโรจน์
                                ประพิณ  ลลิตภัทร
                                ศศินี  ลิ้มพงษ์
                                หัทัยชนก  เตชะรัตนะวิโรจน์
พิมพ์ที่ครั้งที่ 4        พฤษภาคม             2548       จำนวน 10,000 เล่ม ราคา 120 บาท

พิมพ์                       บริษัท อมรินทร์พลิ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 65/16 ซอยวัดชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2422-9000 โทรสาร. 0-2433-2742, 0-2434-1385

6 ความคิดเห็น: